ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์ สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ
การรักษาโรคอ้วนโดยวิธีผ่าตัด
เมื่อไรจะเรียกว่า " อ้วน" หรือ "อ้วนลงพุง" สถานการณ์ "โรคอ้วน" ในปัจจุบัน ทำไมต้องรักษา"โรคอ้วน" เกณฑ์ในการผ่าตัด การผ่าตัดโรคอ้วนจะช่วยรักษาอะไรได้บ้าง ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน ชนิดของการผ่าตัดโรคอ้วน การเตรียมความพร้อมสำหรับวันผ่าตัด นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ป่วยโรคอ้วน คุณจะต้องเจออะไรบ้างระหว่างช่วงนอนโรงพยาบาล คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่เข้ารับการดมยาสลบ การฟื้นฟูสภาพที่บ้านภายหลังการผ่าตัด การดำเนินชีวิตภายหลังการผ่าตัด ภาวะน้ำหนักตัวกลับมาเพิ่มภายหลังการผ่าตัด การผ่าตัดกระชับรูปร่างภายหลังการผ่าตัดลดความอ้วน
The Center of Excellence in Metabolic and Bariatric Surgery Songklanagarind Hospital

การดำเนินชีวิตภายหลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก
(Life after Weight Loss Surgery)

โดย นพ.กำธร ยลสุริยันวงศ์, นพ.สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล, นพ.สุทธิพงษ์ ทิพชาติโยธิน, นพ.วรุฒน์ อุ่นจิตสกุล, คุณปัตตาเวีย ปุญญะเพ็ชร, คุณกาญจนี สิริกรกุล, พว.ดาราวรรณ พรหมจรรย์, พว.นภัทร มูลศาสตร์, คุณภัคจิรา เบญญาปัญญา, คุณพรพิศ เรืองขจร, คุณศิริมะโน ชูศรี, ภก.ดัชรีรัช จินตภากร, ภก.นันทิดา ธรรมก่อเกียรติ, คุณอุไรวรรณ พัฒนสัตยวงศ์, คุณอุรพิณ หนุนอนันต์

1. น้ำหนักและสุขภาพที่จะเปลี่ยนแปลง
  • ผู้ป่วยจะต้องควบคุมเรื่องอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอไปตลอดชีวิตซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด น้ำหนักก็จะกลับเพิ่มขึ้นมาได้ (weight regain)
  • อย่าคาดหวังว่าน้ำหนักจะลดลงอย่างมากทันทีในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งผลการผ่าตัดรักษาแบบนี้จะใช้เวลาเพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างช้า ร่างกายจะสามารถปรับตัวได้โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง น้ำหนักจะถึงจุดต่ำสุดที่ระยะเวลาประมาณ 1 - 3 ปี ภายหลังการผ่าตัด
  • เมื่อน้ำหนักลดลงมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มกลับขึ้นมา มากน้อยขึ้นกับการปฏิบัติตัวในเรื่องการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
  • การลดน้ำหนักที่ดีและยั้งยืนต้องอาศัยการสนับสนุนจากทั้งครอบครัว เพื่อน ผู้ร่วมงาน ทีมแพทย์ พยาบาล และกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน วิธีการสำคัญที่จะช่วยผู้ป่วยให้สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างสม่ำเสมอ คือ มาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง และหาโอกาสมาเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน (กลุ่มผู้ป่วยที่ผ่านการรักษามาแล้ว มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าวิธีการเหล่านี้สามารถทำให้ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
  • ผิวหนังที่ยืดออกมากขณะที่ยังอ้วน ส่วนใหญ่ไม่สามารถหดกลับตามรูปร่างที่เล็กลงภายหลังการรักษาได้ ดังนั้นจะมีผิวหนังส่วนเกินห้อยย้อยตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ เช่น ผิวหนังบริเวณคอ แขน เต้านม ท้อง สะโพก และหลัง เป็นต้น ซึ่งอาจก่อปัญหาด้านความสวยงามรูปลักษณ์ หรืออาจก่อให้เกิดกลิ่นอับ ผื่น แผล หรือการติดเชื้อตามมา ในกรณีเหล่านี้อาจ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดผิวหนังส่วนเกินออกในภายหลัง

2. อาหารการกินในชีวิตหลังการผ่าตัด
☆ อาหารที่ไม่ควรรับประทานในระยะยาว (Long Term Bariatric Diet - What Not to Eat)
  1. อาหารที่ไม่ควรรับประทาน : อาหารที่ไม่ดีต่อระบบย่อยอาหาร เช่นอาหารย่อยยาก กลืนยากทำให้คลื่นไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก อาหารเหล่านี้ควรทานหลังจากที่กระเพาะเริ่มทำงานได้ดีแล้ว ได้แก่
   ข้าวที่ไม่ขัดสี ขนมปังที่มีความเหนียว ถั่วต่างๆ ธัญพืช
  เนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว เนื้อสัตว์แปรรูป อาจทำให้เกิดอาเจียน แต่เนื้อสัตว์ เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ ดังนั้นควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ปรุงให้นุ่ม อาทิ เนื้อปลา เนื้อไก่ ไข่ เป็นต้น
  ผักสด ผลไม้ที่ย่อยยาก ผลไม้เปลือกแข็ง ผลไม้อบแห้ง
  อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
  นมสดและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากบางคนมีปัญหาในการย่อยน้ำตาลแล็กโทส (lactose) ควรเลือกรับประทานเป็นนมพร่องมันเนย (Low fat milk) หรือ lactose free
  2. อาหารที่ไม่ควรรับประทานอย่างยิ่ง
   น้ำตาล เครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาลทุกชนิด น้ำอัดลม อาหารที่เติมน้ำตาล น้ำผลไม้คั้น น้ำ􀂛ผลไม้กล่องต่างๆ
   เครื่องดื่ม alcohol เหล้า สุรา
   อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน พาย พัฟ คุ้กกี้
   อาหารทอดทุกชนิด

☆ อาหารที่ควรกินในระยะยาว (Long term Bariatric Diet : What You Should Eat)
   1. การเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการดัดแปลง อาทิ ลูกชิ้น ไส้กรอก อาหารกระป๋อง และอาหารหมักดอง ควรปรุงอาหารโดยวิธีการอบ ย่าง ต้ม หรือตุ๋น แทนการทอดในน้ำมันปริมาณมาก และใช้นมขาดมันเนย หรือนมพร่องมันเนย แทนนมไขมันเต็มหรือแทนกะทิในการปรุงอาหาร
  2. รับประทานโปรตีนเป็นอันดับแรกของการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ โปรตีนเป็นอาหารที่สำคัญมากต่อร่างกายและผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับถึงวันละ 80 กรัมต่อวัน แต่หลังการผ่าตัดกระเพาะที่เล็กลง อาหารประเภทโปรตีนในปริมาณ 80 กรัม จะมากเกินสำหรับพื้นที่ในกระเพาะ ในขณะที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับโปรตีนที่เพียงพอ เพื่อป้องกันการเผาผลาญกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ เกิดภาวะคลื่นไส้ อาเจียน และเหนื่อยง่าย หากร่างกายขาดโปรตีนเป็นระยะเวลานาน จะเป็นสาเหตุให้บวม ผมร่วง ระบบภูมิคุ้มกันลดลง เสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อ ดังนั้นการทานอาหารต้องคำนึงถึงโปรตีนเป็นสำคัญ กรณีผู้ป่วยรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ นักโภชนาการจะแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริม อาหารได้ เช่น ผงโปรตีน ซึ่งใช้ทดแทนในวันที่รับประทานเนื้อสัตว์ไม่เพียงพอ
  3. รักษาระดับน้ำตาลในเลือด การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีความหิวคงที่ และระดับน้ำตาลคงที่ยังส่งผลต่อระดับอารมณ์ ในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดควรปฏิบัติ ดังนี้
   • หลีกเลี่ยงน้ำตาลเชิงเดี่ยว เช่น ขนมปังขาว มันฝรั่ง ข้าวขาว หรืออาหารและเครื่องดื่มที่ เติมน้ำตาล เช่น ลูกกวาด ไอศกรีม เบเกอรี่
   • รับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน แต่ต้องจำกัดปริมาณ (เพราะต้องทานโปรตีน ปริมาณมาก) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ผักต่างๆ ขนมปังโฮลวีท ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช เพราะอาหารที่มีเส้นใยสูงจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยให้อิ่มเร็วขึ้น
  4. ดื่มน้ำในปริมาณที่ถูกต้องและถูกเวลา ควรดื่มน้ำสะอาดในปริมาณ 8 - 10 แก้ว/วัน และผู้ป่วยไม่ควรดื่มในมื้ออาหาร ควรใช้วิธีจิบน้ำทุก 15 - 20 นาที ที่ไม่ใช่มื้ออาหารตลอดทั้งวัน
  5. ไม่รับประทานอาหารว่างระหว่างมื้อ การทานอาหารว่างหรืออาหารจุบจิบ ทำให้น้ำหนักลดช้าและน้ำหนักกลับมาเพิ่มได้

☆ การปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วยผ่าตัด
  1. วางแผนการทำอาหารแต่ละมื้อ ตั้งเป้าหมายในการทำและระบุอาหารที่ก่อให้เกิดปัญหา
  2. เมื่อไปตลาดให้เลือกซื้อเฉพาะอาหารที่อยู่ในแผนการรับประทานเท่านั้น
  3. รับประทานเฉพาะอาหารที่อยู่ในแผนที่วางไว้เท่านั้น
  4. ไม่รับประทานอาหารว่างระหว่างมื้อนอกจากได้รับคำแนะนำจากนักโภชนาการเท่านั้น
  5. มีการชั่งตวงวัดอาหารที่รับประทานเพื่อได้ประเมินปริมาณให้เหมาะสมกับขนาดกระเพาะและมั่นใจว่าได้รับสารอาหารครบ

☆ ปริมาณอาหารที่รับประทาน (Portion Size)
  ผู้ป่วยมีขนาดกระเพาะเล็กลงแตกต่างกันหลังการผ่าตัด โดยเฉลี่ยจะสามารถทานได้ประมาณ120 ซีซี ต่อมื้อ ผู้ป่วยควรหยุดทานเมื่อรู้สึกอิ่มแน่น มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดการอาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก แน่นที่ลำคอกลืนไม่ได้ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้กระเพาะขยายได้และทำให้น้ำหนักเพิ่มได้ ดังนั้นผู้ป่วยต้องเรียนรู้ปริมาณอาหารที่พอเหมาะทานแล้วไม่อิ่มแน่นเกินไป

☆ กินเร็วแค่ไหนและต้องเคี้ยวอย่างไร
  ต้องกินอย่างช้าๆ และเคี้ยวให้ละเอียดที่สุด
  •เพื่อให้กระเพาะส่งสัญญาณไปที่สมองว่าอิ่ม
  •เพื่อให้ได้ลิ้มรสอาหาร
  •เพื่อให้อาหารเล็กลงก่อนที่จะกลืน ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นช่วยให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ดีขึ้น

3. การออกกำลังกายหลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก
☆ ประโยชน์ด้านสมรรถภาพกายภาพที่เกิดจากการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
  1. อายุขัยเพิ่มขึ้น
  2. การลดไขมันหน้าท้อง
  3. หัวใจ กล้ามเนื้อ กระดูก และปอดแข็งแรงขึ้น
  4. ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
  5. ความดันโลหิตลดลง
  6. ไตรกลีเซอไรด์ลดลง
  7. เพิ่มขึ้นคอเลสเตอรอลที่ดีและลดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี
  8. การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดียิ่งขี้น
  9. การควบคุมอินซูลินดีขี้น
  10. ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด
  11. ใช้พลังงานมากขึ้น
  12. ปรับความสมดุล การทรงตัว ได้ดีขึ้น
☆ ประโยชน์ด้านจิตใจที่เกิดจากการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
  1. สุขภาพจิตดีขึ้น
  2. มีแรงจูงใจและมีจิตใจที่แน่วแน่
  3. ความต้องการทางเพศดีขึ้น
☆  ควรออกกำลังกายเมื่อใดจึงปลอดภัยภายหลังผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
   โดยทั่วไปการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดลดความอ้วนสามารถเริ่มได้อย่างปลอดภัย ภายใน 3 สัปดาห์หลังการผ่าตัด เมื่อผู้ป่วยได้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน สามารถออกกำลังกายได้เลยโดยพิจารณาตามสภาพร่างกายตัวเองก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดลดอ้วน การออกกำลังกายในช่วงแรกควรเริ่มต้นด้วยการเดิน ยกเว้นกรณีที่ก่อนผ่าตัดมีอาการแทรกซ้อนหรือโรคร่วมที่จำกัดการเดินอยู่ แต่ถ้าไม่มีข้อห้าม สามารถเดินด้วยการก้าวช้าและค่อยๆ เพิ่มความเร็วเท่าที่ร่างกายสามารถทนได้ ระยะเวลา 20 - 30 นาทีต่อวัน
   ในระยะแรก (3-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด) สามารถแบ่งการออกกำลังกายได้เป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน แทนการออกกำลังกายครั้งเดียว ตัวอย่างเช่นครั้งละ 10 นาที แบ่งทำเป็นสามรอบ เช้า เที่ยง และเย็น เมื่อสภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น (แนะนำหลังจาก 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด) ให้เพิ่มความหนักของการออกกำลังกายโดยเดินเร็วขึ้น รวมทั้งเพิ่มการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของร่างกาย
  ☆ การออกกำลังกายที่ดีสำหรับการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
  ควรมีการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายทั้ง 3 ด้าน คือ
  1. ความทนทาน การออกกำลังกายเพื่อความทนทานสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ถ้าไม่มีข้อจำกัดใดๆ แนะนำ
    •การเดิน โดยอาจเริ่มด้วยการนับก้าวเดินด้วยเครื่องนับก้าว เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตั้งเป้าหมาย เช่นตั้งเป้าหมายเดินเพิ่มขึ้น 10% โดยอาจแบ่งการเดินเป็นช่วงๆ ต่อวันในระยะแรกๆ หลังการผ่าตัดรักษา
    •ฮูลาฮูป เป็นการออกกำลังกายที่ให้ความสนุกสนาน สามารถปรับปรุงความทนทานได้อีกด้วย อีกทั้งสามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว แขน และขา เนื่องมาจากวิธีการเล่นต้องใช้ การแกว่งรอบๆ เอว และมีการแกว่งแขน ขา ร่วมด้วย
    •จักรยานอยู่กับที่ (stationary bicycle) ที่บ้านหรือในยิม
    •การว่ายน้ำ ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน เพราะมีน้ำหนักเยอะซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อข้อต่อ ซึ่งการว่ายน้ำทำให้เกิดความทนทาน ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นและมีผลกระทบในข้อต่อน้อยที่สุด และได้ทำงานทุกส่วนร่างกาย
  2. ความยืดหยุ่น ประโยชน์ของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อคือ ความยืดหยุ่นมากขึ้นทำให้รู้สึกสุขสบายมากขึ้น นำไปสู่สภาพจิตใจที่ดีขึ้นและความเครียดลดลง ช่วยเพิ่มการประสานงานการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อ
  หลักการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
   1). การยืดกล้ามเนื้อให้รู้สึกตึงๆ
   2). ค้างไว้ 5-10 วินาที หายใจออกขณะยืดกล้ามเนื้อ
   3). ทำซ้ำช้าๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง /ท่า
  3. ความแข็งแรง แนะนำ 2 วิธีเพื่อสร้างความแข็งแรง
   1). ลูกบอลสำหรับออกกำลังกาย (Exercise balls) การออกกำลังกายโดยใช้บอลเพื่อความแข็ง แรงของกล้ามเนื้อแกนกลาง เพียงใช้นั่งทำงาน หรือนั่งดูโทรทัศน์ เป็นต้น
   2). การใช้น้ำหนักเป็นแรงต้าน จะเริ่มใช้ดัมเบลน้ำหนักเบา 1-5 ปอนด์ เพิ่มน้ำหนักที่คุณใช้เมื่อคุณสามารถที่จะทำซ้ำ 3 เซต 15 หรือ 20 ครั้งต่อเซต

4. การใช้วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในผู้ป่วยผ่าตัดรักษาโรคอ้วน
☆  ทำไมการเสริมวิตามินจึงมีความสำคัญหลังจากผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ?
 หลังจากได้รับการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดวิตามิน เนื่องจากร่างกายถูกลดความสามารถในการดูดซึมวิตามิน และร่างกายไม่สามารถกักเก็บอาหารไว้นานพอเพื่อดูดซึมวิตามินได้เต็มที่ ดังนั้นร่างกายต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่ถูกชนิดและขนาดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากทำให้สุขภาพแข็งแรง แล้วยังช่วยลดน้ำหนักได้ตามเป้าหมายอีกด้วย
☆  จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ป่วยไม่รับประทานวิตามินเสริมตามคำสั่งใช้ของแพทย์ ?
• ภาวะขาดแคลเซียม ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
• ภาวะขาดธาตุเหล็ก ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง (ภาวะร่างกายมีขาดเม็ดเลือดแดงในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย) เพิ่มอาการอ่อนแรงและผมร่วง
• ภาวะขาดโฟเลต (กรดโฟลิค) ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง
• ภาวะขาดโปรตีน โปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญของร่างกายในการซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ หากขาดโปรตีนจะส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย เช่น กล้ามเนื้อฝ่อ อวัยวะล้มเหลว นิ่วในถุงน้ำดี และถึงขั้นเสียชีวิต
• ภาวะขาดไทอะมีน (วิตามินบี 1) ส่งผลต่อหัวใจ ระบบย่อยอาหารและระบบประสาท หากวินิจฉัยและทำการรักษาได้ช้า จะกระทบต่อการรับรู้และความจำอย่างถาวร เกิดอาการโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด
• ภาวะขาดวิตามินเอ เกิดภาวะตาบอดกลางคืน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคและตายจาก การติดเชื้อ ระหว่างการตั้งครรภ์หลังการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงภาวะตาบอดกลางคืน และทารกในครรภ์เสียชีวิต
• ภาวะขาดวิตามินบี 12 ส่งผลให้เกิดภาวะอ่อนแรงและเหน็บชาตามมือ โรคโลหิตจางและความผิดปกติของระบบประสาท
• ภาวะขาดวิตามินดี เกิดความผิดปกติของตับและไต โรคกระดูก
• ภาวะขาดวิตามินอี เกิดความผิดปกติระบบประสาท โรคโลหิตจางและแผลหายช้า
• ภาวะขาดวิตามินเค เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน โรคหัวใจ และเกิดการฟกช้ำได้ง่ายขึ้น
• ภาวะขาดสังกะสี เกิดเล็บเปราะและผมร่วง
  การวินิจฉัยการเกิดภาวะต่างๆ ข้างต้น คือการเจาะวัดระดับในเลือด ในขณะที่การวินิจฉัยจากอาการหรือการตรวจร่างกายแพทย์อาจสับสนกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือรับประทานวิตามินตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

5. ความสำคัญของการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มสนับสนุน
☆ ประโยชน์และเป้ามุ่งหมายของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน
 • ช่วยให้สมาชิกกลุ่มประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักและรักษาระดับของน้ำหนักให้คงที่
 • ได้เติมเต็มความรู้สึกและแรงใจในด้านต่างๆ ซึ่งไม่ค่อยได้รับจากครอบครัวและเพื่อน
 • เรียนรู้จากเพื่อนร่วมกลุ่มที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ทั้งคำแนะนำและกำลังใจในเรื่องต่างๆ
  - ความกลัวก่อนผ่าตัด
  - การเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต
  - การเรียนรู้สิ่งที่ยั่วยวนและวิธีหลีกเลี่ยง
  - หลุดพ้นจากความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจในการลดน้ำหนัก
  - เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบใหม่ในโลกใบเดิม
  - เรียนรู้การใช้ชีวิตนอกบ้านและในบ้านที่สัมพันธ์กับการกินอาหารที่เปลี่ยนไป
  - สูตรอาหารหลังผ่าตัด
  - คำแนะนำเกี่ยวกับการดำรงชีวิตในครอบครัวและที่ทำงาน
 • กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นสื่อกลางในการแบ่งปันความรู้ ทักษะ และตอบคำถามที่สมาชิกสงสัยโดยผู้เชียวชาญเฉพาะด้าน
 • มีโอกาสได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมผู้รักษา
☆ กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนที่ดีเป็นอย่างไร
  1. มีตารางการพบปะสม่ำเสมอ เช่น วันจันทร์แรกของเดือน
  2. มีทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้นำกลุ่ม ได้แก่ แพทย์ผู้รักษา โภชนากร พยาบาล หรือนักจิตวิทยาการปรึกษา
  3. มีกระบวนการให้สมาชิกกลุ่มได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นทั่วทุกคน
  4. สร้างพลังร่วมเชิงบวก มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและค้นหาความท้าทายในการร่วมกลุ่ม ให้สมาชิกได้รับกำลังใจ ได้แนวทางในการดูแลตนเองเมื่อจบการเข้าร่วมกลุ่มในวันนั้นๆ
 เมื่อกลุ่มที่เข้าร่วม ไม่มีข้อกำหนดทั้ง 4 ข้อข้างต้น ควรเปลี่ยนกลุ่มเพื่อให้ได้กลุ่มที่เหมาะสมมากขึ้น
☆ ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการเข้าร่วมกลุ่ม
  โดยธรรมชาติของมนุษย์ ไม่มีรูปแบบสำเร็จรูปที่เหมาะกับทุกคน ดังนั้น สมาชิกสามารถค้นหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวสมาชิกเองได้ โดยมีปัจจัยดังนี้
• จำนวนสมาชิกในกลุ่มที่ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป เพื่อให้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) กันได้อย่างทั่วถึง
• กลุ่มต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกแลกเปลี่ยนในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เช่น อาหารและโภชนาการการดำรงชีวิตหลังผ่าตัด และในบางครั้งการทำกลุ่มเฉพาะเรื่อง (Focus Group) เป็นประโยชน์เช่นกัน
• เข้ากลุ่มแล้วต้องรู้สึกสบายและอบอุ่นใจ
• กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนต้องสามารถสร้างบรรยากาศให้สมาชิกรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ และเป็นที่สำหรับบอกเล่าความรู้สึกต่างๆ ได้อย่างอิสระ ตรงไปตรงมา
• จะหากลุ่มแบบนี้ได้อย่างไร
  - สอบถามจากทีมผู้รักษา เช่น ศัลยแพทย์ พยาบาล ฯลฯ
  - กลุ่มของทีมโรงพยาบาล หรือกลุ่มที่ทางทีมผู้รักษาส่งต่อ
  - กลุ่มที่เปิดโอกาสให้เปลี่ยนกลุ่มได้หากไม่สะดวกหรือไม่สบายใจในการเข้ากลุ่ม
  - หากไม่มีกลุ่มที่เหมาะสม ลองจัดตั้งกลุ่มของตนเอง โดยขอความช่วยเหลือจากทีมผู้ดูแลในการจัดตั้งกลุ่มใหม่

COEMBS