ศูนย์การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์ สมัครสมาชิก เข้าสู่ระบบ

โปรตีน กินเท่าไหร่ถึงพอดี

  “โปรตีน” เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย นอกจากการช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยในการเจริญเติบโต แต่อันที่จริงแล้ว หน้าที่ของโปรตีนนั้นยังมีอีกหลายข้อ ดังนี้
- ช่วยสร้างเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น แข็งแรง ปกป้องริ้วรอยก่อนวัยอันควร
- เป็นแหล่งพลังงานสำรองของร่างกาย
- ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
- เป็นองค์ประกอบของเอนไซม์หรือน้ำย่อยต่างๆ ที่จำเป็นในการย่อยและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  โดยแหล่งของโปรตีนนั้นมีมากมาย พบได้ทั้งในพืชและสัตว์ อาหารประเภทโปรตีนโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นอาหารที่เราบริโภคอยู่ทุกวัน ซึ่งแต่ละแหล่งของโปรตีนนั้นยังให้ปริมาณโปรตีนที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเราสามารถเลือกบริโภคได้ตามความต้องการของร่างกายเราได้ อาทิ
- ปริมาณโปรตีนในอาหาร 100 กรัม
- อกไก่ 23 กรัม
- เนื้อหมู 27 กรัม
- ปลา 13 กรัม
- ถั่วเหลือง 36 กรัม
- ถั่วลิสง 24 กรัม
- อัลมอนด์ 22 กรัม
- เต้าหู้ 8 กรัม
- นมวัว 8 กรัม *ต่อ 1 กล่อง (240 มิลลิลิตร)
- ไข่ไก่ 7 กรัม *ต่อ 1 ฟอง
- โยเกิร์ตไขมันต่ำ 13 กรัม *ต่อ 1 ถ้วย
- ทูน่ากระป๋อง 16 กรัม *ต่อ 1 กระป๋อง

  สำหรับปริมาณโปรตีนที่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละกลุ่ม เช่น
- บุคคลทั่วไป (เพศหญิงและชาย) จะต้องการโปรตีนที่ 0.8-1.0 กรัม ต่อน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น 1 กิโลกรัม
- ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก จะต้องการโปรตีนที่ 1.2-1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น 1 กิโลกรัม
- ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก จะต้องการโปรตีนที่ 1.5-2.0 กรัม ต่อน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น 1 กิโลกรัม
  ยกตัวอย่างเช่น กรณีลดน้ำหนัก นาย ก. สูง 165 เซนติเมตร หนัก 80 กิโลกรัม มีน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น (IDW) คือ 65 กิโลกรัม ดังนั้น นาย ก. ต้องการโปรตีนวันละ 65 x 1.2-1.5 กรัม ซึ่งเท่ากับประมาณ 80-100 กรัมต่อวัน

  สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก การรับประทานโปรตีนชนิดดีจะช่วยให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ติดมัน รวมไปถึงโปรตีนที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน และแฮม เพราะนอกจากจะทำให้ยากต่อการลดน้ำหนัก แล้วยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนโรคมะเร็งได้อีกด้วย “ถ้าร่างกายของเราขาดโปรตีน” หากร่างกายของเรานั้นขาดโปรตีนจะส่งผลให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่สดชื่น รู้สึกมึนงง นอกจากยังส่งผลทำให้ผมร่วง เนื่องจากเส้นผมของเราส่วนใหญ่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ป่วยง่าย แผลหายช้า เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำ

COEMBS