หลายคนคงรู้สึกว่าตนเองอ้วนขึ้น ๆ ทั้งๆทีก็รับประทานเท่าเดิม หรืออาจน้อยกว่าเดิม หรือช่วงนี้ควบคุมอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย ระยะแรกๆก็สามารถลดน้ำหนักได้ดี สักพักน้ำหนักเริ่มคงที เผลอหน่อยกลับมาขึ้นอีก ลองมาดูกันว่าเรามีพฤติกรรมในข้อใดบ้าง ที่จะทำให้การเผาผลาญของร่างกายลดลงบ้าง
1. กินไม่เป็นเวลา “หิวเมื่อไรค่อยกิน” จากการทดลองในหนู 2 กลุ่มโดยให้อาหารที่มีไขมันสูง หนูที่ได้รับอาหารไม่เป็นเวลามีแนวโน้มน้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่หนูที่ได้รับอาหารตรงเวลาทุกมื้อ พบว่าร่างกายมีการเผาผลาญอาหารมากขึ้นในระหว่างมื้อ ดังนั้นถ้าเรารับประทานอาหารไม่ต้องเวลา ทำให้ระบบการเผาผลาญผิดปกติเมื่อเกิดขึ้นเช่นนี้ในระยะเวลายาวนาน ก็จะทำให้น้ำหนักเพิ่ม
2. การพักผ่อนไม่เพียงพอ “ง่วงเมื่อไรค่อยนอน” คนที่นอนน้อย หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้วันรุ่งขึ้นระบบการเผาผลาญลดลง และการอดหลับอดนอนทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรงและอ่อนเพลีย
3. วันนั้นของเดือน “สำหรับคุณสุภาพสตรี” ประจำเดือนของคุณผู้หญิงจะทำให้ขาดธาตุเหล็ก เหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นใช้ในการขนส่งออกซิเจนไปยังทุกส่วนของร่างกาย ร่างกายต้องการธาตุเหล็กวันละ 10 มิลลิกรัม ในทางตรงกันข้ามเหล็กมากเกินไปจะนำไปสู่การผลิตของอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายและเป็นอุปสรรคกับการเผาผลาญอาหารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะเช่นหัวใจและตับ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงคือ เมล็ดฟักทอง ตับไก่ หอยต่างๆ เมล็ดอัลมอนต์ ถั่วขาวและถั่วเหลือง.
4. กินน้อยเกิ้นนนน หรืออาจถึงขั้นอดอาหาร แต่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรเพราะการอดอาหาร หรือลดอาหารอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะปรับโหมดอัตโนมัติเป็น “ภาวะอดอยาก” ร่างกายจะสั่งให้ชะลอการเผาผลาญลง เพื่อประหยัดและกักเก็บพลังงานไว้ ดังนั้นเราไม่ควรอดอาหารหรือลดปริมาณอาหารลงอย่างรวดเร็ว ต้องค่อยลดปริมาณอาหารลงอย่างช้าเพื่อมิให้ ร่างกายตกใจและลดการเผาผลาญลง
5. นั่งนานเกินไป เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากสำหรับมนุษย์ออฟฟิศ แต่เป็นความจริงที่หลีกไม่ได้คือการนั่งนานเกิน 20 นาที ระบบการเผาผลาญจะลดลง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังด้วย จึงควรมีการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆเท่าที่จะทำได้
6. การขาดน้ำ กระบวนการทำงานของร่างกาย รวมถึงการเผาผลาญอาหารขึ้นอยู่กับน้ำ หากร่างกายขาดน้ำความสามารถในการเผาผลาญอาหารลดต่ำกว่าปกติ 2 % ดังนั้นการดื่มน้ำอย่างน้อย 1,000 – 1,500 ซีซีต่อวันจะช่วยไม่ให้ระบบเผาผลาญลดลง
ที่มา : พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์. แนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม.การประชุมวิชาการโภชนวิทยามหิดล เรื่อง โภชนาการทางเลือกเพื่อสุขภาพและการชะลอวัย